โฉนดที่ดิน
แบ่งประเภทโฉนดที่ดิน ตามสีของตราครุฑ
โฉนดที่ดิน มีหลายประเภท มีทั้งที่สามารถซื้อขายได้และซื้อขายไม่ได้ โดยแบ่งเป็นแบบโอนกรรมสิทธิ์ได้ หรือเป็นเพียงหนังสือแสดงสิทธิ์การทำกิน หรือทำประโยชน์ในที่ดินโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น ซึ่งสามารถสังเกตและจำแนกได้ง่าย ๆ ตามสีของตราครุฑด้านบนของโฉนด แต่ละแบบแตกต่างกันอย่างไร และมีข้อควรระวังในการซื้อขายโอนสิทธิ์อย่างไร ไปดูกันเลยครับ
1. โฉนดที่ดิน นส.4 (ตราครุฑสีแดง)
หนังสือที่ทางราชการหรือกรมที่ดินออกให้ตามประมวลกฎหมายเพื่อเป็นการแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ที่เป็นเจ้าของ หากผู้ใดมีโฉนดไว้ในครอบครอง ถือได้ว่ามีกรรมสิทธิ์ในที่ดินผืนนั้นอย่างสมบูรณ์
ที่ดินโฉนดครุฑแดงนี้เป็นเอกสารสิทธิ์ที่นิยมในการซื้อขายมากที่สุด และมีมูลค่าด้านราคาสูงที่สุดในบรรดาเอกสารสิทธิประเภทอื่น ๆ โดยหากมีการซื้อขาย ผู้ซื้อผู้ขายจะต้องไปทำการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่สำนักงานที่ดินในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ ต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินเท่านั้น มิฉะนั้นจะถือเป็นโมฆะ
2. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส. 3 ก.
(ตราครุฑสีเขียว)
เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้เพื่อรับรองว่าเจ้าของสามารถทำประโยชน์ในพื้นที่นั้น ๆ ได้ โดยที่ดินจะมีระวางรูปถ่ายทางอากาศชัดเจน และมีการกำหนดตำแหน่งที่ดินในระวางรูปถ่ายทางอากาศไว้เป็นหลักแหล่ง
3. หนังสือรับรองการทำประโยชน์ นส. 3/นส. 3 ข. (ตราครุฑสีดำ)
เป็นหนังสือที่ทางราชการออกให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินทั่ว ๆ ไป จะไม่มีภาพถ่ายระวางทางอากาศ มีลักษณะเป็นแผนที่รูปลอย ๆ ไม่มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินแน่นอน หรือบางกรณีใช้ออกในพื้นที่ที่ไม่มีระวางรูปถ่ายทางอากาศ
ข้อแตกต่างของ น.ส.3 และ น.ส.3 ข. คือ
- น.ส.3 นายอำเภอท้องที่เป็นผู้ออกหนังสือรับรองให้
- น.ส.3 ข. เจ้าหน้าที่ที่ดินเป็นผู้ออกหนังสือรับรองแสดงถึงสิทธิ์การครอบครองให้ แต่ยังไม่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ
* เมื่อมีการสอบเขตชัดเจนแล้ว น.ส.3 และ น.ส.3 ข. สามารถนำไปขออกโฉนดได้ ที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่นั้น ๆ ทางเจ้าหน้าที่ที่ดินจะเข้ามาทำการรังวัด และติดประกาศ 30 วัน หากไม่มีใครมาขอคัดค้าน ก็สามารถทำเรื่องออกโฉนดได้